การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในประเทศไทย (Health Promotion & Disease Prevention, P&P)
การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในประเทศไทย (Health Promotion & Disease Prevention, P&P)
ประเด็นสำคัญ
1.รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสำหรับชุดสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เหมือนกันสำหรับประชาชนไทยทุกคน (สมาชิกของหลักประกันสุขภาพภาครัฐสามระบบใหญ่) โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้บริหารจัดการ แต่ยังไม่ครอบคลุมบุคคลที่ไม่ใช่คนไทย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 รัฐบาลไทยตระหนักถึงการป้องกันโรคในกลุ่มที่ไม่ใช่คนไทย ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณาการเพิ่มความครอบคลุมของบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่คนทุกคนบนแผ่นดินไทย โดยพิจารณาความเป็นไปได้เชิงงบประมาณในการขยายความครอบคลุมในกลุ่มที่ไม่ใช่คนไทย และจัดลำดับความสำคัญของบริการดังกล่าว เช่น มุ่งเน้นการจัดบริการป้องกันโรคสำหรับโรคระบาด และโรคติดต่อก่อนเป็นลำดับแรก
2.ประเทศไทยกำลังประสบความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโรคจากโรคติดต่อเป็นโรคไม่ติดต่อ ซึ่งโรคไม่ติดต่อหลายโรคสามารถป้องกันได้
3.สปสช. มีการออกแบบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคยึดหลักคิดแบบ service based และมีการจ่ายเงินตามผลงานบริการรายบุคคลเป็นหลัก ซึ่งมีข้อจำกัดคือ ไม่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ทางสุขภาพของบริการ และยังไม่มีการบริหารจัดการระบบที่เข้มข้นและจริงจังสำหรับการสนับสนุนประชาชนให้รับผิดชอบต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของแต่ละคนให้ดีขึ้น
4.การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นงานที่ต้องได้รับการบูรณาการ ให้มีการจัดบริการอย่างครอบคลุมทั้งการป้องกันโรคระดับปฐมภูมิ (Primary prevention) การป้องกันไม่ให้ประชากรป่วยเป็นโรค โดยเน้นมาตราการที่ประชากรเป็นหลัก ระดับทุติยภูมิ (Secondary prevention) ตรวจพบโรคได้ ในระยะแรก และให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที ระดับตติยภูมิ (Tertiary prevention) ป้องกันไม่ให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หรือพิการ และการฟื้นฟูสภาพของผู้พิการทั้ง ทางร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยมีการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน ทั้ง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ผู้ให้บริการสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ประชาชน
จึงมีข้อเสนอให้ (ก) สปสช. ออกแบบระบบการเบิกจ่ายด้านการสร้างเสริมสุขภาพที่เน้นผลลัพธ์ทางสุขภาพ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน โดยมีการติดตามวัดผลอย่างต่อเนื่อง (ข) ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันให้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เป็นการประจำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการบูรณาการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม (ค) ทุกฝ่ายสนับสนุนให้มีการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับพื้นที่ เช่น การดำเนินงานภายใต้กองทุนสุขภาพตำบลให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนในระดับพื้นที่