แนวทางการติดตามประเมินผลนโยบายสุขภาพโลกของประเทศไทย
บทนำ
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักเรื่องนโยบายสุขภาพโลก เนื่องจากระบบสุขภาพของประเทศไทยมีศักยภาพในการรับมือกับปัญหาสุขภาพโลกและความท้าทายต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากการดำเนินนโยบายและมาตรการที่สำคัญ เช่น การดำเนินงานควบคุมการระบาดของเชื้อ HIV ในช่วงปี พ.ศ. 2533 การดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาถ้วนหน้าซึ่งใช้งบประมาณจากภาษีตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2543 และการดำเนินงานเพื่อควบคุมและกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียผ่านยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2569 เป็นต้น ความหลากหลายของนโยบายสุขภาพโลกที่เพิ่มขึ้นนี้มักมาพร้อมกับความต้องการติดตามและประเมินความก้าวหน้า ประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ และผลกระทบของการดำเนินงานสุขภาพโลกของประเทศทั้งในภาพรวมและรายประเด็นที่มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ความต้องการใช้ข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เร่งให้เกิดการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านสุขภาพโลกอย่างเป็นระบบ ซึ่งหลายประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายในเรื่องการเก็บรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถนำมาใช้ในการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการด้านสุขภาพขนาดใหญ่ได้อย่างสม่ำเสมอ โดยปัญหาดังกล่าวพบได้ในการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดกลุ่มต่าง ๆ เช่น ตัวชี้วัดปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ เป็นต้น ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้นด้วย
การติดตามและประเมินผลโครงการ/มาตรการด้านสุขภาพโลกในปัจจุบันมักมีการดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น หน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาพโลก แหล่งทุนที่สนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการ หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้อาจมีความสนใจในประเด็นสุขภาพที่แตกต่างกัน บางหน่วยงานให้ความสนใจเฉพาะ ในขณะที่บางหน่วยงานสนใจการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศโดยรวม นอกจากนี้ หน่วยงานเหล่านี้ยังมีบทบาทในการติดตามประเมินผลโครงการด้านสุขภาพโลกที่แตกต่างกัน โดยอาจเป็นผู้ให้ทุน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนากรอบการติดตามประเมินผล มาตรฐานการดำเนินงาน วิธีการศึกษาที่ใช้ในการติดตามประเมินผล การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการเผยแพร่ผลการติดตามประเมินผล อย่างไรก็ตามข้อมูลจากการติดตามประเมินผลโครงการด้านสุขภาพ ทั้งในกรณีที่เป็นโครงการสุขภาพที่มุ่งเน้นเฉพาะโรค หรือโครงการที่มุ่งเน้นบางประเด็นสุขภาพล้วนแล้วแต่จะเป็นประโยชน์สำหรับการการติดตามประสิทธิภาพของระบบสุขภาพของประเทศโดยรวม และเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและประเมินผลโครงการด้านสุขภาพได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เริ่มกำหนดประเด็นที่จะติดตามประเมินผล วิธีการ และการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง คณะวิจัยจึงได้พัฒนาแนวทางฯ ฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้แนวทางสำหรับการติดตามประเมินผล (M&E) นโยบาย/กรอบยุทธศาสตร์สุขภาพโลกที่ดำเนินการในประเทศไทย โดยเริ่มจากการอธิบายเกี่ยวกับการติดตามประเมินผลรูปแบบต่าง ๆ ระบบ M&E ที่พึงประสงค์ องค์ประกอบของระบบ M&E กระบวนการจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อที่จะนำมาประเมิน การคัดเลือกและพัฒนาตัวชี้วัดที่จะใช้ในการติดตามประเมินผล ตลอดจนกระบวนการติดตามประเมินผลนโยบายสุขภาพ/ยุทธศาสตร์สุขภาพโลกโดยย่อ